เนื่องจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพคนไทยในปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าจับตามอง ทางนพ.พีรพัฒน์ ต่างใจ ผู้อำนวยการพานาซี ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด มหาชน ได้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนไทยในอนาคต
แนวโน้ม “เฮลท์แคร์” ปี 66 โตถ้วนหน้า จากปัจจัยบวกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ เลือกตั้ง พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนไทย แนะภาครัฐเดินหน้านโยบายด้านท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมเปิดทาง Medical Tourism กลับมาคึกคัก
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การระบาดของโรคอุบัติใหม่ รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์มีการเติบโตก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา แต่แนวโน้มในศักยราชใหม่ จะเป็นอย่างไร และมีปัจจัยบวก ปัจจัยลบใด ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในกลุ่ม Healthcare Provider ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก แพทย์เฉพาะทาง ฯลฯ หลังประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
นพ. ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2566 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย บวกกับนโยบายรัฐบาลที่ให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้โรงพยาบาลที่เคยมีรายได้จากคนไข้โควิดลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะมีผลกระทบรายจ่ายด้านต้นทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของคนไข้ในภาคเอกชนลดลงและไปเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลภาครัฐแทน
ส่วนปัจจัยบวกคือ คนไข้ต่างจังหวัดและต่างประเทศจากเดิมที่เดินทางไม่ได้ จะเดินทางได้ง่ายขึ้น ส่วนการเลือกตั้งช่วงกลางปีจะทำให้คนมีรายได้ เกิดเงินหมุนในภาพใหญ่ แต่ภาพรองลงมาแม้จะมีเงินหมุนในระบบเพิ่มขึ้นแต่ถูกแย่งโดยภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นหากนำมาหักลบกันแล้วไม่แน่คนอาจจะใช้เงินน้อยลง แต่โชคดีที่ธุรกิจทางด้านสุขภาพจะถูกกระทบน้อยและจะเป็นค่าใช้จ่ายที่คนตัดสินใจ ตัดทิ้งเป็นอันดับท้าย ๆ ดังนั้นโดยรวมแล้วค่อนข้างยาก ถ้าจะมองว่าเศรษฐกิจปี 2566 ดีหรือไม่ดี แต่โดยรวมของปี 66 นี้คิดว่าไม่น่าจะดีเท่าไร
“ในส่วนของธุรกิจสุขภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลไทยเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งประเทศอื่นสู้เราไม่ได้ การแพทย์ในประเทศไทยเป็นการแพทย์ที่มีคุณภาพดี หมอมีความชำนาญและภาคบริการทำได้ดี ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยสำหรับต่างประเทศถือว่าถูกมากทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลไม่สูง แต่ทั้งหมดนี้เรารับรู้กันแค่ภายในประเทศ ต่างชาติหลายประเทศยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องการการส่งเสริมจากรัฐบาลในการประชาสัมพันธ์ให้ประเทศอื่นรับรู้
ดังนั้นควรช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ให้สามารถรักษาตัวในไทยได้นาน รวมไปถึงเรื่องของการนำทรัพย์สินเข้ามาใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะถูกกว่าประเทศอื่นแต่ ค่าใช้จ่ายโดยรวมก็ยังสูงอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องอำนวยความสะดวกในการนำทรัพย์สินเข้ามาในประเทศซึ่งยังยากอยู่ และเป็นเรื่องที่เราต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ”
ด้านนพ.พีรพัฒน์ ต่างใจ ผู้อำนวยการพานาซี ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ บริษัท ณุศาศิริ จำกัด มหาชน กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 65 ถือเป็นปีขาขึ้นเพราะธุรกิจสุขภาพกลับมาเปิดตัวได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาและสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงมากถึงแม้ว่ามีระลอกของโควิดระบาดเป็นช่วง ๆ แต่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังได้รับวัคซีน ทำให้ภาพรวมของธุรกิจสุขภาพโดยเฉพาะธุรกิจที่มีการพึ่งพิงต่างชาติดีขึ้น ประกอบกับคนมีความตระหนักในเรื่องของสุขภาพทั้งการตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีนและการดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ
“ปี 2566 เชื่อว่าจะเป็นปีที่ดี เมื่อธุรกิจต่าง ๆ เริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นประกอบกับคนหันมาใส่ใจสุขภาพและมีประเด็นข่าวสารต่าง ๆ เข้ามาทำให้คนรู้สึกว่าต้องใส่ใจสุขภาพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรธุรกิจสุขภาพก็จะเป็นธุรกิจที่เติบโตอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลเก่า นโยบายก็จะคล้ายกันก็คือส่งเสริม Medical Tourism เพราะฉะนั้นจุดนี้ก็จะเป็นจุดที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น”
สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นกังวลและคาดว่าจะเข้ามากระทบก็คือ “เสถียรภาพของการท่องเที่ยว” ถ้าการท่องเที่ยวเป็นไปได้ด้วยดี นโยบายสนับสนุนให้คนเข้ามาลงทุน เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายเป็นไปได้ด้วยดีธุรกิจก็จะเติบโตตาม ส่วนโควิดคงจะไม่มีประเด็นอะไรใหม่ ถ้าไม่มีโรคระบาดใหม่ชัดเจนขึ้นมาเพราะวัคซีนฉีดไปแล้ว
แต่ถ้ามีนโยบายที่ขัดต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวทำให้ Medical Tourism เติบโตลดลงธุรกิจสุขภาพก็จะได้รับผลกระทบตาม เพราะธุรกิจสุขภาพในภาคเอกชนของไทยไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทั่วไป เวลเนส หรือ บริการดูแลผู้สูงวัย แล้วแต่ต้องอาศัยการท่องเที่ยวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าการท่องเที่ยวดีจะทำให้ดีไปด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องรอลุ้นว่านโยบายด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนจะเป็นอย่างไร
Reference
• หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1 - 4 มกราคม พ.ศ. 2566